อาลัยท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์
ทายาทท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ มีอาการทางโรคหัวใจ จึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ต่อมาในค่ำวันที่ศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงโดยลำดับ กระทั่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน
ทั้งนี้ทายาทของท่านผู้หญิง ขอขอบคุณคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้พยายามดูแลรักษาจนสุดความสามารถอย่างดียิ่งทุกประการ
ในการจัดพิธีศพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทายาทจะปฏิบัติตาม “คำสั่งถึงลูก” ที่ท่านผู้หญิงได้เขียนไว้ด้วยลายมือ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ ความว่า
{mosimage}
คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน
เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑) นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว
๒) ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น
๓) ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
๔) ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
๕) มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก
๖) ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ
๗) เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
๘) ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ๆ แม่เกิด
๙) หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทาน แก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล
๑๐) ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุข ความเจริญ
พูนศุข พนมยงค์
เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ ๑๗๒ สาธร ๓ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑
แม่มีอายุครบ ๘๖ ปี ๙ เดือน
โดยระหว่างนี้ได้มีการเปิดให้ลงนามไว้อาลัย โดยสามารถลงนามได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคมเป็นต้นไปที่ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เลขที่ 65/1 สุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา โทรศัพท์ 0-2381-3860-1 โดยทางสถาบันปรีดี พนมยงค์จะมีพิธีไว้อาลัยท่านผู้หญิงพูนศุขในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคมนี้{mospagebreak title=รูปรำลึก}
{gallery}poonsuk/pridi_poonsuk{/gallery}
{mospagebreak title=รำลึกถึงความหลัง}
รำลึกถึงความหลัง
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
บทความเรื่อง “รำลึกถึงความหลัง”
จากหนังสือ “วันปรีดี พนมยงค์” ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
๒ พฤษภาคม ๒๕๓๖ เป็นวันที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ละโลกอันสับสนวุ่นวายไปสู่ที่ที่มีความสงบครบ ๑๐ ปี ถึงแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว แต่เนื่องจากเราได้ร่วมชีวิตกันมาเป็นเวลากว่า ๕๔ ปี จึงอดที่จะระลึกถึงความหลังซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะครอบครัวไม่ได้ และเป็นชีวิตเสี้ยวหนึ่งของนายปรีดีที่ไม่ค่อยมีใครทราบ
เมื่อเราแต่งงานในปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ นั้นนายปรีดีอายุ ๒๘ ปี รับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือคณะกรรมการกฤษฎีกา) และเป็นครูสอนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๓๒๐ บาท และค่าสอนอีสัปดาห์ละ ๒ ชั่งโมง ชั่วโมงละ ๑๐ บาท แต่งงานแล้วเราพำนักอยู่ที่เรือนหอซึ่งบิดาข้าพเจ้าปลูกให้ในบริเวณบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม อาหารการกินเราขึ้นไปรับประทานพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่บนตึกใหญ่ เมื่อนายปรีดีรับเงินเดือนมา ได้มอบให้ข้าพเจ้าทั้งหมดโดยไม่หักไว้ใช้ส่วนตัวเลย เนื่องจากนายปรีดีมีรายได้พิเศษจากค่าสอนและโรงพิมพ์ส่วนตัว ซึ่งออกหนังสือนิติสาส์น เป็นรายเดือน ส่วนเงินเดือนทั้งหมดที่มอบให้ข้าพเจ้าในฐานะแม่บ้าน ได้ใช้จ่ายเป็นค่าเงินเดือนคนรับใช้และค่าสิ่งของเบ็ดเตล็ดประจำบ้าน เมื่อมีบุตรก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น เช่นค่าจ้างคนเลี้ยงลูกและค่าอาหาร (นม) ฯลฯ สำหรับเด็ก
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นายปรีดีได้รับเงินเดือน ๓๖๐ บาท การสอนก็เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละสี่ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการจำหน่ายหนังสือ ประชุมกฎหมายไทย ฝากธนาคารไว้เพื่อใช้ส่วนตัว เช่นสั่งซื้อหนังสือตำราจากต่างประเทศ ต่อมานายปรีดีได้โอนเงินจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท จากบัญชีส่วนตัวมาใส่บัญชีข้าพเจ้า (ตามจดหมายที่ถึงข้าพเจ้าลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๗๕) ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดีมีภาระหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เริ่มตั้งแต่เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก กรรมการคณะราษฎร รัฐมนตรีลอย พ้นจากเป็นราชการประจำและครูสอนกฎหมาย แต่จะรับเงินเดือนเท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้
ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จากเหตุการนี้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ส่งนายปรีดีให้ไปดูการเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยรัฐบาลจ่ายเงินค่าใช้จ่ายให้ปีละ ๑,๐๐๐ ปอนด์ ครั้น พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ เพื่อเปิดสภาผู้แทนฯ และให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร นายปรีดีจึงกลับสู่บ้านเกิดเมือนอนในปลายเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น รัฐบาลให้บรรจุให้รับเงินเดือนตำแหน่งศาสตราจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับเงินเดือนเดือนละ ๕๐๐ บาท ต่อมาในปลายปี ๒๔๗๖ (นับปีอย่างเก่า) โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับเงินเดือนเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท นายปรีดีได้มอบเงินเดือนทั้งหมดให้ข้าพเจ้าเช่นเดียวกับเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อต้องการสิ่งใดก็ให้ข้าพเจ้าจัดหาให้ บางเดือนเมื่อรับแล้วลืมทิ้งไว้ที่โต๊ะทำงาน จนเจ้าหน้าที่ต้องนำมาให้ที่บ้าน ต่อมาจึงสั่งเลขานุการให้นำมามอบให้แก่ข้าพเจ้าโดยตรง และปฏิบัติเช่นนี้ตลอดเวลาที่นายปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประชุมที่เป็นกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ ซึ่งนายปรีดีมอบให้คุณปพาฬ บุญ-หลง ที่ทำงานอยู่ที่สภาฯ เป็นผู้รักษาไว้เพื่อใช้ในกรณีจำเป็น เมื่อรับตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งไม่เคยเบิกมาใช้ แต่จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน ฯลฯ
ในเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย นายปรีดีจึงพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม และเมื่อเป็นผู้สำร็จราชการฯ คนเดียว (Sole Regent) ได้เพิ่มอีก ๑๐๐ บาท กับมีเงินค่ารับรองจำนวนหนึ่งซึ่งมอบให้เลขานุการรักษาไว้เพื่อใช้สอยเบ็ดเตล็ด
เมื่อพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ แล้วได้บำนาญเดือนละ ๖๐๐ บาท (บำนาญสูงสุดในขณะนั้น) และมีรายได้ส่วนตัวจากค่าเช่าบ้าน ถนนสีลม นอกจากนี้ธนาคารเอเชียได้สมนาคุณเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและได้ให้คำแนะนำในการดำเนินการที่ทำให้ธนาคารมีผลกำไรหลังสงคราม โดยที่นายปรีดีหรือครอบครัวไม่มีหุ้นในธนาคารนี้
คุณฉลบชลัยย์ พลางกูล มิตรสนิทของครอบครัวเราเป็นผู้ที่ทราบและประสบเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง ได้เขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือ วันปรีดี ๓๕ ตอนหนึ่งว่า “ท่านปรีดีไม่เคยสนใจในทรัพย์สินเงินทองเลย ท่านรำคาญคนที่พูดเรื่องมรดก ท่านไม่เคยใช้เงิน ไม่เคยแตะต้องเงิน...” และอีกตอนหนึ่งในเรื่องเดียวกันว่า “ท่านไม่เคยแตะต้องเงินเดือนของท่าน ไม่สนใจว่าจะเป็นเท่าไร...”
เมื่อเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นายปรีดีจำต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ไม่มีเงินติดตัวเลย ต้องยืมจากกัปตันเรือน้ำมันที่โดยสารไปสิงคโปร์ เมื่อถึงสิงคโปร์แล้วจึงได้โทรเลขยืมเงินจากคุณดิเรก ชัยนาม ซึ่งขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ ในระหว่างที่นายปรีดีระหกระเหิน ข้าพเจ้าได้ทำ Letter of Credit ให้ไว้ใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง
นายปรีดีไม่เคยให้ของขวัญมีค่าแก่ข้าพเจ้าเช่นสามีหลายท่านกระทำกัน แต่ภายหลังวายชนม์ข้าพเจ้าค้นเอกสารได้พบพินัยกรรมที่นายปรีดีเขียนด้วยลายมือตนเอง ลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดข้าพเจ้า จึงทำให้ข้าพเจ้าได้รับบำเหน็จตกทอดจากนายปรีดีเป็นเงิน ๑๒๓,๙๖๐ บาท ขณะมีชีวิตอยู่ นายปรีดีได้รับบำนาญเดือนละ ๔,๑๓๒ บาท ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้รับบำเหน็จตกทอด ๓๐ เท่าของบำนาญ
เมื่อข้าพเจ้ารำลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดีได้เสียสละและไม่เห็นแก่ตัว ให้ความไว้วางข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ และอดภูมิใจไม่ได้ว่าเป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือกอบโกยประโยชน์เพื่อตนเองและครอบครัวเลย